Search

นักวิทยาศาสตร์เริ่มเข้าใจปัญหาสุขภาพจาก COVID-19 - วีโอเอไทย - VOA Thai

jogja-tribbun.blogspot.com


เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐหรือ CDC เพิ่มลักษณะอาการอีกสี่อย่างซึ่งอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ของโรคโควิด-19 ในขณะที่วงการแพทย์ก็ยอมรับว่าเพิ่งจะเริ่มเข้าใจปัญหาต่อสุขภาพจากเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้เช่นกัน

โดย CDC เพิ่มการมีน้ำมูกไหล คัดจมูก คลื่นไส้ และท้องเสียว่าเป็นลักษณะอาการอีกสี่อย่างของโรคโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ CDC ได้ระบุลักษณะอาการต่างๆ 11 อย่างที่อาจบ่งชี้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อาการเหล่านี้ได้แก่การมีไข้หรือหนาวสั่น ไอหายใจไม่ออก เหนื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดตามตัว ปวดศีรษะ การสูญเสียการรับกลิ่นหรือรส เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล คลื่นไส้หรืออาเจียร รวมทั้งท้องเสีย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม CDC ระบุว่าอาการทั้ง 11 อย่างนี้ไม่ใช่อาการทุกอย่างหรือทั้งหมดของโรคโควิด-19

การเพิ่มเติมข้อมูลของ CDC ที่ว่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่าวงการแพทย์กำลังเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับโรคนี้ตลอดเวลา ทั้งในแง่อาการบ่งชี้และผลกระทบต่อสุขภาพที่มากกว่าเฉพาะต่อปอดเท่านั้น

โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาสุขภาพบางอย่างจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้อาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้ป่วยได้นานหลายปี เพราะไวรัสสายพันธ์ใหม่ดังกล่าวโจมตีอวัยวะหลายอย่างของร่างกาย เช่น ตับอ่อน หัวใจ ตับ ไต สมอง และอวัยวะอื่นๆ และในบางกรณีก็สร้างความเสียหายร้ายแรงต่ออวัยวะเหล่านี้ด้วย

Eric Topol แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัย Scripps Research Translational Institute ในรัฐแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า เดิมทีเราคิดว่านี่เป็นเพียงไวรัสของระบบทางเดินหายใจ แต่นอกจากปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจแล้วผู้ป่วยโควิด-19 อาจมีอาการแข็งตัวของเลือดอย่างผิดปกติและมีอาการอักเสบอย่างรุนแรง นอกจากนั้นไวรัสดังกล่าวยังสามารถทำให้เกิดปัญหาของระบบประสาท เช่น มีอาการปวดหัว วิงเวียน เป็นลมชัก สูญเสียการรับรสหรือกลิ่น ยิ่งกว่านั้นการฟื้นตัวก็ช้า ไม่สมบูรณ์ และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงด้วย

ในขณะที่ความสนใจส่วนใหญ่มักมุ่งไปที่ผู้ป่วยซึ่งมีอาการรุนแรง แต่แพทย์ก็พยายามศึกษาอาการของคนไข้ที่ไม่ได้ป่วยมากพอจนต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งบางคนยังคงมีปัญหาอยู่อีกนานหลายเดือนหลังจากที่เริ่มติดเชื้อ โดยศูนย์ CDC เตือนว่าแม้ผู้ติดเชื้อมักแสดงอาการภายใน 2-14 วัน โดยส่วนใหญ่จะมีอาการใน 4-5 วันก็ตาม แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่หลากหลายหรือนานเป็นเดือนได้ และรายงานการศึกษาชิ้นหนึ่งชี้ว่าผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 นั้นจะมีโอกาสแพร่เชื้อได้มากที่สุดในช่วง 1-2 วันก่อนเริ่มแสดงอาการ

ส่วนพ.ญ. Helen Salisbury ที่มหาวิทยาลัย Oxford รายงานในวารสาร British Medical Journal เมื่อไม่นานมานี้ว่าผู้ป่วยโรคโควิด ราว 1 ใน 10 คนจะมีอาการเรื้อรัง เธอบอกว่าแม้ผู้ป่วยของเธอส่วนใหญ่มีผลเอกซ์เรย์หน้าอกที่ปกติและไม่มีสัญญาณของการอักเสบ แต่พวกเขาก็ยังไม่หายเป็นปกติ ทางด้านนายแพทย์ Sadiya Khan ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจที่ Northwestern Medicine ในสหรัฐกล่าวว่าสิ่งที่น่าประหลาดใจเกี่ยวกับไวรัสนี้คือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นนอกปอด เขาเชื่อว่าผู้ที่รอดชีวิตจากโควิด-19 จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงมากทีเดียว

โดยผู้ป่วยในแผนกผู้ป่วยหนักของโรงพยาบาลหรือที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหลายสัปดาห์จะต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัวและกลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง ซึ่งยิ่งอายุมากเท่าไหร่ก็ยิ่งฟื้นตัวยากมากขึ้นเท่านั้น หรือบางทีอาจไม่มีวันกลับไปแข็งแรงเหมือนเดิมเลยก็เป็นได้ แพทย์ยังเตือนด้วยว่าผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลา 7 วันสำหรับทุกๆ 1 วันที่อยู่ในโรงพยาบาล สำหรับการฟื้นตัว




July 20, 2020 at 11:05AM
https://ift.tt/2WENWIx

นักวิทยาศาสตร์เริ่มเข้าใจปัญหาสุขภาพจาก COVID-19 - วีโอเอไทย - VOA Thai

https://ift.tt/2TYnNTT


Bagikan Berita Ini

0 Response to "นักวิทยาศาสตร์เริ่มเข้าใจปัญหาสุขภาพจาก COVID-19 - วีโอเอไทย - VOA Thai"

Post a Comment

Powered by Blogger.