Search

"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" จับมือภาครัฐ-ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ลงนามส่ง SMS เตือนภัยธรรมชาติผ่านโทรศัพท์มือถือ - สยามรัฐ

jogja-tribbun.blogspot.com

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานองค์กรอิสระ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยานผลักดันมาตรการความปลอดภัยสู่การเตือนภัยยุคใหม่ จับมือภาครัฐและ 5 โอเปอร์เรเตอร์ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การส่ง SMS เตือนภัยธรรมชาติผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยไม่มีค่าธรรมเนียมการส่งข้อความ มุ่งบริการนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการแจ้งเตือนอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

       
พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า หลังเหตุการณ์เรือโดยสารฟินิกส์อับปางกลางทะเลภูเก็ตเมื่อปี 2561 เกิดการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันจัดการมาตรการด้านความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานสากลเพื่อดึงความเชื่อมั่นกลับมาและป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียเช่นนี้อีก รวมถึงรักษาสัมพันธไมตรีที่แน่นแฟ้นในความร่วมมือการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนระดับทวิภาคีระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทยกับคณะกรรมการตรวจสอบแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นพิจารณาแก้ปัญหาเชิงระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยทางน้ำ และหนึ่งในมาตรการที่สำคัญ คือ การแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพสามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยได้รวดเร็วโดยตรง เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงหรือเตรียมตัวตั้งรับกับสถานการณ์การเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ อย่างทันท่วงที ลดความเดือดร้อนสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินให้ได้มากที่สุด ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้หารือกับกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กสทช. และ 5 โอเปอร์เรเตอร์ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถึงการดำเนินงานให้มาตรการนี้เป็นรูปธรรม จึงเป็นที่มาของการผลักดันให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum Of Understanding : MOU) เรื่อง การส่งข้อมูลข่าวสารแจ้งเตือนภัยธรรมชาติผ่านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยในวันนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานองค์กรอิสระทั้ง กกต. สตง. และผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา, นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), นายลาร์ส มาร์คุส แอดอุรทุสซัน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเช็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน), นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ ผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และ นายสุเทพ เตมานุวัตน์ หัวหน้าสำนักธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เพื่อจะร่วมมือกันส่งข้อมูลข่าวสารแจ้งเตือนภัยธรรมชาติผ่านระบบบริการส่งข้อความสั้นหรือ SMS ทางโทรศัพท์มือถือแบบไม่มีค่าธรรมเนียมการส่งข้อความ ซึ่งข้อความจะมีทั้ง 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน นับเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้บริการสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ประชาชนคนไทย

พล.อ.วิทวัส กล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่หลายจังหวัดทำการรวบรวมข้อมูล – ข้อเท็จจริงจากส่วนที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อศึกษาถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขเชิงระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยทางน้ำมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า สาเหตุของสภาพปัญหาหลักมี 5 ประการ คือ 1) บุคลากร เช่น ขาดแคลนบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาความปลอดภัยและด้านการควบคุมศูนย์การจราจรทางน้ำ 2) เครื่องมือและอุปกรณ์ เช่น ขาดแคลนเรือที่ทันสมัยและมีขนาดเหมาะสมสามารถปฏิบัติภารกิจกู้ภัยภายใต้สภาพวิกฤติที่เกิดจากคลื่นลมแรง (Sea State) อีกทั้งศูนย์ระบบการควบคุมการจราจรทางทะเลที่รองรับระบบแสดงตนอัตโนมัติที่ใช้สำหรับในกิจการเดินเรือภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ (AIS - Automatic Identification System) ยังไม่ครอบคลุมชายฝั่งทะเลทุกแห่ง ปัจจุบันมีเพียงแค่ 3 แห่งเท่านั้น คือ ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ท่าเทียบเรือสมุย และท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง และบางท้องที่ เสารับ – ส่งสัญญาณระหว่างเรือและศูนย์ AIS ยังขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากกฎหมายท้องถิ่นมีข้อจำกัดและไม่อนุญาตให้ตั้งเสารับ - ส่งสัญญาณสูงเกิน 30 เมตร 3) งบประมาณ เช่น มีงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับการจัดจ้างพนักงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ประจำ ณ ท่าเทียบเรือ ขาดงบประมาณในการซ่อมบำรุงและซื้ออุปกรณ์ช่วยชีวิตสำหรับใช้ในสภาวะฉุกเฉิน 4) ความพร้อมก่อนออกเดินเรือ เช่น ท่าเทียบเรือบางแห่งยังไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยและระบบการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคล ขาดอุปกรณ์ช่วยชีวิตในเหตุฉุกเฉิน เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้า AED 5) การแจ้งเตือนภัย เช่น ผู้ประกอบการเดินเรือขาดความเชื่อถือในการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ส่วนมากจะใช้ประสบการณ์ส่วนตัวและความรู้จากรุ่นสู่รุ่น และเมื่อเกิดภัยธรรมชาติต่าง ๆ ขึ้น ประชาชนมักไม่ได้รับข่าวสารโดยตรง จึงขาดการเตรียมตัวป้องกัน ทำให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งนี้ ได้เลือกเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้นแบบการจัดการมาตรการความปลอดภัยทางน้ำ โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) การบริหารจัดการท่าเทียบเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ภายใต้แนวคิด Marine Safety เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านการบริหารท่าเรือให้เกิดความมั่นคง สะดวก ปลอดภัย ซึ่งมาตรการความปลอดภัยทางน้ำของภาครัฐควรดำเนินการ ดังนี้ 1. การบริหารจัดการท่าเทียบเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) 2. ระบบควบคุมการจราจรที่ทันสมัย ประกอบด้วยอุปกรณ์เครื่องมือการตรวจติดตามความเคลื่อนไหวของเรือเดินทะเลด้วยระบบต่าง ๆ ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินเรือ 3. การให้เรือโดยสารจะต้องติดตั้งระบบสำแดงข้อมูลเรืออัตโนมัติ AIS (Automatic Identification System) ซึ่งจะทำให้ทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของเรือ ทิศทางการเดินเรือ ประเภทเรือ ความเร็ว สถานการณ์เดินเรือ และข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยอื่น ๆ 4. การส่งข้อมูลข่าวสารแจ้งเตือนภัยธรรมชาติผ่านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (SMS) เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่เสี่ยงภัยได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารการแจ้งเตือนได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงทีเพื่อความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน และ 5. จัดการมาตรฐานความปลอดภัยในการช่วยชีวิตกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) บริเวณท่าเรือและในเรือโดยสาร เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ที่ประสบสภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน จึงหวังให้การพัฒนาระบบมาตรฐานความปลอดภัยทางน้ำครบวงจรและเป็นสากลครอบคลุมในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปด้วย




August 28, 2020 at 06:52PM
https://ift.tt/2Ezzax1

"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" จับมือภาครัฐ-ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ลงนามส่ง SMS เตือนภัยธรรมชาติผ่านโทรศัพท์มือถือ - สยามรัฐ

https://ift.tt/2TYnNTT


Bagikan Berita Ini

0 Response to ""ผู้ตรวจการแผ่นดิน" จับมือภาครัฐ-ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ลงนามส่ง SMS เตือนภัยธรรมชาติผ่านโทรศัพท์มือถือ - สยามรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.