29 มิถุนายน 2563
68
ทรัพยากรป่าไม้ถือเป็นต้นทุนทางสังคมด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการรักษาพื้นที่ป่าไม้อย่างจริงจัง
เพราะเศรษฐกิจที่เข้มแข็งต้องอยู่บนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมที่มั่นคง เช่น สหรัฐมีพื้นที่ป่าไม้ ประมาณ 36% ของประเทศ, แคนาดา 40%, ญี่ปุ่น 67%เกาหลีใต้ 64% เป็นต้น
รัฐบาลไทย ตั้งเป้าชัดเจนว่าจะนำพาประเทศก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศพัฒนาแล้ว และได้ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ่ปรากฎทั้งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ 6 พ.ย.2562 ครม.มีมติเห็นชอบกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติให้ถือเป็นนโยบายหลัก ตั้งเป้าหมายให้ประเทศมีพื้นที่ป่าไม้ 40% จากปัจจุบันมีอยู่เพียง 31%
เรื่องนี้ชัดเจนมากขึ้น ในช่วงไวรัสโควิด 19 ที่ผลสำรวจความคิดเห็นคนไทยกว่า 80% สนับสนุนนโยบายปิดอุทยานแห่งชาติบางช่วงในแต่ละปี เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว ที่เสนอโดย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา หลังปิดการท่องเที่ยวช่วงโควิด สัตว์ป่าและสัตว์ทะเลที่มีสถานภาพถูกคุกคามใกล้สูญพันธุ์ เช่น กระทิง ค่างแว่นถิ่นใต้ เต่าตนุ พยูน ออกมาปรากฎตัวอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน และเป็นข่าวโด่งดังไปในสื่อนานาชาติหลายสำนัก
ที่น่าเศร้า คือ บางหน่วยงานของรัฐให้ความสำคัญแต่การพัฒนาด้านเดียว พยายามผลักดันโครงการสร้างเขื่อนที่จะท่วมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งที่เป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการเหล่านี้ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการในระดับชาติหลากหลายคณะ โดยขอยกตัวอย่างโครงการที่สำคัญๆ ที่พยายามผลักดันในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา
- โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง ชัยภูมิ เสนอ คกก.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ขอเพิกถอนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เป็นเนื้อที่1,280 ไร่ ในปี 2560 และจะกระทบต่อการสูญเสียไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ กว่า 10,000 ต้น ซึ่งโครงการนี้ในที่สุดได้สรุปให้สำรวจตำแหน่งที่ตั้งสันเขื่อนใหม่ เพื่อไม่ให้ท่วมป่าภูเขียว จนกระทั่งเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
- โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยบอน อุบลราชธานี เสนอคกก.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ และคกก.อุทยานแห่งชาติ ในปี2560 เพื่อขอเพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม และอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เป็นเนื้อที่ 280 ไร่ และจะทำให้สูญเสียไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ กว่า 4,600 ต้น ซึ่งคกกฯ ไม่พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการ
- โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยขะยูง ศรีสะเกษ เสนอคกก.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ในปี2560 ขอเพิกถอนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรักเพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำ เป็นเนื้อที่1,611 ไร่และมีไม้ขนาดใหญ่กว่า 10,000 ต้น ซึ่งคกก.ฯ ไม่พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการ
- โครงการอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ พะเยา เสนอคกก.อุทยานแห่งชาติ ในปี2562 ขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง 243 ไร่ โดยมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ กว่า 4,400 ต้น และยังเป็นแหล่งอาศัยหลักของนกยูงไทย ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่มีสถานภาพถูกคุกคามในระดับโลก ซึ่งคกก.ฯ อนุมัติในหลักการ และให้กรมชลฯ กลับไปพิจารณาเสนอแนวทางลดกระทบต่อนกยูงไทย ให้ชัดเจนก่อน
- โครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง ราชบุรี เสนอคกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในปี2562 ขอใช้พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จำนวน 2,097 ไร่ซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพป่าสมบูรณ์ และจะท่วมหมู่บ้านกะเหรี่ยงพุระกำ ที่ถือเป็นหมู่บ้านที่รักษาวัฒนธรรมกะเหรี่ยงดั้งเดิม ซึ่งชาวบ้านรวมตัวกันเรียกร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งคกก.สรุป ให้กรมชลฯกลับไปพูดคุยกับชาวบ้านให้เข้าใจก่อน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการอ่างเก็บน้ำ ที่กำลังเสนอเพื่อก่อสร้างในพื้นที่อนุรักษ์ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพิ่มเติม เช่น อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จันทบุรี ที่จะท่วมพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นกว่า 7,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่ได้รับการฟื้นฟูเพื่ออนุรักษ์ช้างป่าอย่างประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน สระแก้ว ที่กำลังเสนอให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา เป็นเนื้อที่ ประมาณ 4,000 ไร่ ทั้งๆ ที่พื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกดงพญาเย็น - เขาใหญ่ และคกก.มรดกโลกเคยมีมติขอให้รัฐบาลระงับการสร้าง
โครงการเหล่านี้ มักอ้างถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง แต่ส่วนใหญ่เป็นโครงการเก่าแก่ที่ถูกคิดไว้ตั้งแต่สมัยที่ประเทศไทยยังมีพื้นที่ป่าไม้จำนวนมาก ถูกนำมาปัดฝุ่นเสนอใหม่ โดยมิได้คำนึงว่าปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างมาก ป่าไม้เหลือน้อย สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์เหลือพื้นที่ป่าเป็นที่พึ่งพิงเพียงเล็กน้อยเพื่อดำรงชีวิต แต่แนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ไม่ได้ถูกปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และของโลกในปัจจุบัน
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คนในสังคมในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ จะมีความตระหนักและเห็นคุณค่าของการมีพื้นที่อนุรักษ์เพื่อรักษาป่าไม้และสัตว์ป่า ที่คงเหลืออยู่น้อยนิดเหล่านั้นอย่างมาก และจะพยายามร่วมกันรักษาพื้นที่เหล่านี้ ให้คงอยู่คู่สังคม และเอื้อประโยชน์คนชนบทที่ต้องพึ่งพิงระบบนิเวศตลอดจนคนในสังคมเมืองที่โหยหาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่มีคุณภาพประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น สหรัฐ และบางประเทศในยุโรป พยายามฟื้นฟูระบบนิเวศลำน้ำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยการรื้อทำลายเขื่อนที่มีอายุเก่าแก่ และมีผลกระทบชัดเจนต่อสิ่งแวดล้อม รวมกันกว่าหลายร้อยเขื่อนและหน่วยงานของรัฐด้านพัฒนาจะมีความตระหนัก โดยไม่เสนอโครงการพัฒนาที่ทำลายพื้นที่อนุรักษ์ที่ประกาศจัดตั้งแล้ว เพราะถือเป็นการผิดกฎและกติกาของสังคมอย่างรุนแรง และอาจถูกต่อต้านจากคนในสังคมจนกระทั่งฟ้องร้องกันเสียภาพลักษณ์
สำหรับในประเทศไทย หากหน่วยงานรัฐ ขาดความตระหนักถึงคุณค่าทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และระบบนิเวศ อยู่เช่นนี้ ก็ยังถือว่าประเทศเรายังคงติดกับประเทศรายได้ปานกลางที่หน่วยงานของรัฐด้านพัฒนาคิดโครงการทำลายป่าไม้และสิ่งแวดล้อม โดยไม่แยแสต่อคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสลับซับซ้อน เกี่ยวโยงกับสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคและช่วยรักษาสมดุลย์ความชื้นในภาวะโลกร้อน และแสดงถึงความไม่แยแสต่อคุณค่าของการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลกพื้นที่มรดกโลก ที่คนทั่วโลกห่วงใย ซึ่งแนวทางการพัฒนายังเป็นอยู่เช่นอาจทำให้นโยบายป่าไม้แห่งชาติ คงเป็นเสมือนเพียงกระดาษที่ขาดพลังขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย
โดย...
ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ
June 29, 2020 at 04:04AM
https://ift.tt/2Zh8N5o
โครงการสร้างเขื่อนทำลายป่า พาไทยติดกับดักประเทศกำลังพัฒนา | บทความพิเศษ - กรุงเทพธุรกิจ
https://ift.tt/2TYnNTT
Bagikan Berita Ini
0 Response to "โครงการสร้างเขื่อนทำลายป่า พาไทยติดกับดักประเทศกำลังพัฒนา | บทความพิเศษ - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment